ECPAT Foundation Thailand

มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก(ECPAT Foundation Thailand)

เกี่ยวกับเรา

มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก เป็นองค์กรพัฒนาเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไร และไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง การดำเนินงานมุ่งป้องกันและคุ้มครองเด็กจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศทุกรูปแบบ รวมทั้งการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กผ่านเทคโนโลยีและการสื่อสารสมัยใหม่ มูลนิธิเน้นการทำงานโดยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ชุมชน ผู้ปกครอง รวมทั้งเด็กและเยาวชน และเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับสากลขององค์การเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล (ECPAT International)

วิสัยทัศน์

เด็กทุกคนได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศทุกรูปแบบ

ประวัติความเป็นมา

1991

ได้มีการรณรงค์ระดับสากลโดยกลุ่มบุคคลที่ห่วงใยเกี่ยวกับการขยายตัวของปัญหาการค้าประเวณีเด็กในธุรกิจท่องเที่ยวแถบเอเชีย โดยใช้ชื่อของการรณรงค์นี้ว่า End Child Prostitution in Asia Tourism (ECPAT) ผู้ร่วมการรณรงค์ดังกล่าวตระหนักว่าปัญหานี้เป็นปัญหาระดับโลก จึงเรียกร้องให้มีการประชุมรัฐบาลระดับโลกขึ้นเพื่อให้ทั่วโลกรับรู้ถึงปัญหานี้

1996

เอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล (ECPAT International) องค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ (UNICEF) และองค์กรภาคประชาสังคมด้านสิทธิเด็ก ได้ร่วมกันจัด การประชุมระดับโลกเพื่อต่อต้านการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กเชิงพาณิชย์ครั้งที่หนึ่งขึ้น (The First World Congress against Commercial Sexual Exploitation of Children) โดยรัฐบาลสวีเดนเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมที่สต็อกโฮล์ม มีตัวแทนรัฐบาล องค์กรระหว่างประเทศ องค์กรพัฒนาเอกชน และเยาวชนเข้าร่วมประชุม นับเป็นครั้งแรกที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ยอมรับว่ามีการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็กเกิดขึ้น ซึ่งส่งผลให้รัฐบาลจาก 122 ประเทศให้พันธะสัญญาในการปฏิบัติตามวาระเพื่อการปฏิบัติ ซึ่งนำเสนอแนวทางการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว

1998 - 2000

โครงการนำร่องเพื่อการป้องกันการแสวงประโยชน์ทางเพศจากเด็กในจังหวัดทางภาคเหนือ ของประเทศไทย ได้ถูกริเริ่มขึ้นโดยการสนับสนุนทางการเงินขององค์กร Taksvarkki by Dagsverke ในประเทศฟินแลนด์ เป้าหมายของโครงการ คือ "การป้องกันเด็กจากการเข้าสู่ธุรกิจทางเพศ" โดยการให้ความรู้แก่เด็กที่มีความเสี่ยง จัดบริการทางตรงให้กับเด็กที่เป็นผู้เสียหาย การเก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ เพื่อการรณรงค์สาธารณะ และเสริมสร้างศักยภาพให้กับองค์กรเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน

1999

ได้มีการจดทะเบียนก่อตั้ง "มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (ECPAT Foundation)" โดยมีสำนักงานประสานงาน ตั้งอยู่ในจังหวัดเชียงราย และดำเนินงานร่วมกับองค์กรพันธมิตร 6 แห่ง ในการพยายามป้องกันเด็กในภาคเหนือตอนบนของประเทศไทยจากการถูกล่อลวงและบังคับให้ค้าประเวณี ซึ่งรวมไปถึงการแสวงหาประโยชน์ทางเพศอื่น ๆ ซึ่งจะนำไปสู่การค้าประเวณีเช่นกัน รวมทั้งให้ความช่วยเหลือแก่เด็กที่เป็นผู้เสียหาย โดยการทำงานร่วมกับเครือข่ายทีมสหวิชาชีพที่มีความเชี่ยวชาญในการคุ้มครองเด็ก

2001

มูลนิธิเข้าร่วมเวทีประชุมระดับโลก ครั้งที่ 2 ในการป้องกันและยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็ก ซึ่งจัดขึ้นที่เมืองโยฮามา ประเทศญี่ปุ่น โดยรัฐบาลญี่ปุ่นเป็นเจ้าภาพ รัฐบาลจาก 159 ประเทศได้นำเสนอความก้าวหน้าในการปฏิบัติตามพันธะสัญญาดังกล่าวและยืนยันการดำเนินงานตามพันธะสัญญาต่อไป

2001 - 2002

โครงการวิจัยประเด็นเรื่องการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กใน 8 จังหวัด ภาคเหนือ คือเชียงราย เชียงใหม่ พะเยา แพร่ น่าน ลำพูน ลำปางและแม่ฮ่องสอน เพื่อทราบสถานการณ์และบริบทเกี่ยวข้องกับการเข้าสู่กระบวนการนำเด็กมาค้าประเวณี และล่วงละเมิดทางเพศ รวบรวมข้อมูลสถานบริการ สถานเริงรมย์ รวมทั้งหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชนและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง

2008

เข้าร่วมประชุมระดับโลกครั้งที่ 3 ในการป้องกันและยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์จากเด็ก ณ เมืองริโอ เดอ จาเนโร Rio de Janeiro ประเทศบราซิล ที่ โดยรัฐบาลบราซิลเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุม รัฐบาลที่เข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ได้ให้การรับรองผลการประชุม ที่เรียกว่า ริโอ เดอ จาเนโร คอล ฟอร์ แอคชั่น เพื่อการปกป้องและยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก (The Rio de Janeiro Declaration and Call for Action to Prevent and Stop Sexual Exploitation of Children and Adolescents) อันประกอบด้วยแนวทางการดำเนินงานที่มีเป้าหมายขยายการปกป้องและคุ้มครองเด็กในรูปแบบใหม่ๆ การทำงานเพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจ จากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศอันเป็นพันธสัญญาต่อเนื่องที่ได้ให้ไว้ในการประชุมระดับโลกครั้งที่หนึ่งและสอง

2009

เริ่มดำเนินงาน "โครงการความร่วมมือกับเยาวชน Youth Partnership Project (YPP)" ในโรงเรียนและบ้านพักสำหรับเด็กในภาคเหนือ โดยโครงการมีจุดมุ่งหมายเพื่อเสริมสร้างศักยภาพแก่เด็กที่ตกเป็นผู้เสียหายและเด็กที่เสี่ยงต่อการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศเชิงพาณิชย์ ซึ่งโครงการนี้ถือได้ว่าเป็นแนวปฏิบัติที่ดีในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กในประเด็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ซึ่งจะส่งผลกระทบทางบวกต่อภาวะทางจิตใจและสังคมที่สำคัญต่อเด็กที่ต้องการความช่วยเหลือเหล่านี้ เช่น การเพิ่มความเข้มแข็งในตนเองเมื่อประสบกับปัญหาต่าง ๆ ในชีวิต การเพิ่มความมั่นใจในตนเอง การเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ การเห็นในคุณค่าของตนเองเพิ่มขึ้น รวมถึงการพัฒนาทักษะชีวิตและสังคม

2011

มูลนิธิได้ร่วมกิจกรรมรณรงค์ระดับโลกในประเด็น "หยุดการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ"ที่เป็นความร่วมมือระหว่างเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนลและองค์กรภาคธุรกิจ คือ The Body Shop เพื่อช่วยเหลือเด็กที่ได้รับผลกระทบ การสนับสนุนเปลี่ยนแปลงนโยบาย สร้างความตระหนักรู้แก่สาธารณะชนในการทำงานร่วมกันเพื่อต่อต้านการค้าเด็กเพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ

2014

พัฒนาและปรับปรุงคู่มือ/หลักสูตรเกี่ยวกับนโยบายการปกป้องคุ้มครองเด็กในองค์กรเพื่อเป็นแนวปฏิบัติที่ดีสำหรับองค์กรที่มีปฏิสัมพันธ์กับเด็กในการมีส่วนร่วมรับผิดชอบต่อการปกป้องคุ้มครองเด็ก และการอบรมพัฒนาศักยภาพด้านการคุ้มครองเด็กภายในองค์กร แก่เครือข่ายองค์กรรัฐ เอกชน เพื่อให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ ได้รับการคุ้มครองที่ปราศจากการใช้ความรุนแรง การล่วงละเมิดและการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทุกรูปแบบ

2017 - 2019

มูลนิธิได้ขยายการดำเนินงานในการณรงค์สร้างความตระหนักในระดับจังหวัดเป็นระดับประเทศ เพื่อผลักดันกฎหมายและนโยบายด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ โดยการศึกษาวิจัยถึงช่องว่างของกฎหมายและนโยบายด้านการปกป้องคุ้มครองเด็กในการใช้สื่อออนไลน์ เพื่อนำผลการศึกษาวิจัยไปรณรงค์ให้มีการออกกฎหมายคุ้มครองเด็กจากภัยออนไลน์ให้ครอบคลุมการแสวงหาประโยชน์จากเด็กออนไลน์ทุกรูปแบบ


ภารกิจ

  • เสริมสร้างความตระหนัก การมีส่วนร่วม และพลังของทุกภาคส่วนในสังคมเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กทุกรูปแบบ
  • ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบาย กฎหมาย และกลไกในการคุ้มครองเด็กจากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
  • พัฒนาองค์ความรู้ การศึกษาวิจัย ตัวอย่างที่ดีในการทำงาน และบทเรียน เพื่อประโยชน์ในการป้องกันและคุ้มครองเด็กจากการแสวงหาประโยชน์ทางเพศ

ยุทธศาสตร์

Satistic
  • การมีส่วนร่วมของเด็ก

    ส่งเสริมการมีส่วนร่วมและพลังของเด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเด็กกลุ่มเสี่ยงและเด็กที่เป็นผู้เสียหาย เพื่อให้พวกเขาเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงโดยมีอิทธิพลต่อนโยบาย ทัศนคติของสังคม และช่วยคุ้มครองเด็กคนอื่นๆ

  • การคุ้มครองเด็ก

    ส่งเสริมและติดตามการดำเนินงาน รวมทั้งกลไกคุ้มครองเด็กทั้งในระดับชุมชนและระดับประเทศ ที่รับประกันการแทรกแซงเมื่อเด็กถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ รวมทั้งการให้ความช่วยเหลือโดยตรงต่อเด็กที่เป็นผู้เสียหาย

  • การผลักดันนโยบาย

    การสื่อสารเพื่อให้เกิดการปรับปรุง เปลี่ยนแปลงนโยบายและกรอบกฎหมาย ในการปกป้องเด็ก รวมทั้งการเสริมสร้างความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ผู้บังคับใช้กฎหมายและนักวิชาการ

  • การเสริมสร้างศักยภาพ

    เพิ่มความรู้ ความตระหนักแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และภาคธุรกิจเอกชนเพื่อให้เกิดความเข้าใจถึงบทบาท และสามารถดำเนินการเพื่อปกป้องเด็กๆ จากการถูกแสวงหาประโยชน์ทางเพศ

  • การวิจัยและเสริมสร้างองค์ความรู้

    เผยแพร่องค์ความรู้ การวิจัยเพื่อเป็นหลักฐานเชิงประจักษ์ การรวบรวม สังเคราะห์บทเรียนและแนวทางปฏิบัติที่ดี เพื่อการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและการสนับสนุนสำหรับการเปลี่ยนแปลงนโยบายและการปฏิบัติ


รายชื่อคณะกรรมการ

นายวันชัย รุจนวงศ์

ประธานกรรมการ

นายสรรพสิทธิ์ คุมพ์ประพันธ์

รองประธานกรรมการ

นางสุดารัตน์ เสรีวัฒน์

กรรมการ

นางสุรกิจ กมลรัตน์

กรรมการ

น.พ. พิษณุ ขันติพงษ์

กรรมการ

นางกฤษณา พิมลแสงสุริยา

กรรมการ

นางสาวภูษา ศรีวิลาศ

กรรมการ

นายรวี บัวเย็น

กรรมการ

นางจำนงลักษณ์ นาควิโรจน์

กรรมการและเหรัญญิก

นางสาวเกษณี จันทร์ตระกูล

กรรมการและเหรัญญิก