ECPAT Foundation Thailand

การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์(Online Child Sexual Exploitation)

การแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กออนไลน์เป็นปัญหาระดับโลกที่วิวัฒน์อย่างรวดเร็ว และต้องอาศัยการรับมือแบบเบ็ดเสร็จ มูลนิธิเอ็คแพท ดำเนินการเพื่อเพิ่มพูนความรู้และพัฒนาศักยภาพของเครือข่ายและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการต่อสู้กับปัญหาการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ เพื่อให้สามารถหาทางแก้ไขปัญหาอย่างมีประสิทธิภาพ รูปแบบของการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็กในโลกออนไลน์ มีดังต่อไปนี้

สื่อแสดงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก(Child Sexual Abuse Material - CSAM)

สื่อแสดงการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือ "สื่อการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก" (Child Sexual Exploitation Material: CSEM) หมายถึงสื่อที่แสดงการละเมิดทางเพศเด็กในทุกรูปแบบ ที่แสดงให้เห็นการล่วงละเมิดทางเพศต่อเด็ก หรือกิจกรรมทางเพศที่กระทำต่อเด็ก รวมทั้งสื่อที่แสดงภาพเปลือย หรือกึ่งเปลือยของเด็ก เพื่อจุดประสงค์ในเรื่องเพศสัมพันธ์เป็นหลัก สื่อประเภทนี้รวมถึง "ภาพลามกอนาจารเด็กเสมือนจริง" (virtual child pornography) ด้วย แม้จะไม่ได้ทำอันตรายต่อเด็กจริง แต่ก่อให้เกิดผลทางลบต่อเด็กเพราะ

  1. อาจถูกนำไปใช้ในกระบวนการตระเตรียมเด็กเพื่อแสวงหาประโยชน์ทางเพศ
  2. ทำให้ตลาดค้าสื่อการทารุณกรรมทางเพศต่อเด็กดำรงอยู่ต่อไปได้ และ
  3. ทำให้เกิดวัฒนธรรมความชินชาและไม่แยแส (culture of tolerance) ต่อการนำเด็กมาล่วงละเมิดผ่านสื่อออนไลน์และเป็นการบ่มเพาะอุปสงค์ในการละเมิดทางเพศต่อเด็ก

การตระเตรียมเด็กออนไลน์เพื่อวัตถุประสงค์ทางเพศ(Online Grooming)

การตระเตรียมเด็ก คือกระบวนการสร้างความสัมพันธ์กับเด็ก โดยการสื่อสารกับเด็กผ่านอินเตอร์เน็ต หรือเทคโนโลยีดิจิทัลอื่นๆ หรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ ด้วยเจตนาเพื่อล่อลวง ควบคุมหรือยุยงให้เด็กร่วมกิจกรรมทางเพศ โดยอาจมีการเดินทางมาพบเด็ก หรือชักจูงให้เด็กออกมาพบเพื่อล่วงละเมิดทางเพศจริงๆ หรือการล่วงละเมิดทางเพศเด็กผ่านทางเว็บแคม ผู้ล่วงละเมิดมักค้นหาเด็กที่อยู่ในภาวะเปราะบางเช่น ปัญหาเรื่องความมั่นใจในตนเอง เด็กที่โดดเดี่ยว พฤติกรรมการเตรียมเด็ก ได้แก่ การสนองความต้องการของเด็ก เช่น ให้ความสนใจและของขวัญ การบังคับจิตใจ การควบคุม "การสอนเรื่องเพศ" และการทำให้เด็กรู้สึกชินชา สร้างความสัมพันธ์ทางเพศกับเด็ก (อย่างรวดเร็วหรือช้าๆ การมีความลับร่วมกันเพื่อให้เด็กเข้าร่วมและไม่ปริปาก)

6 ขั้นตอนของการ Grooming
  1. เลือกเหยื่อ
  2. สร้างความไว้วางใจ
  3. เติมเต็มความต้องการ
  4. แยกเด็กออกมา
  5. สร้างสัมพันธ์กับเด็ก
  6. ควบคุมเด็ก

การส่งข้อความ หรือรูปภาพยั่วยุทางเพศ(Sexting)

มาจากคำว่า Sex + Texting หมายถึง การที่เด็กหรือวัยรุ่นสร้าง แบ่งปัน และส่งต่อภาพที่ชวนให้นึกถึงภาพเปลือยหรือเกือบเปลือย ผ่านทางโทรศัพท์มือถือ และ/ หรือ อินเทอร์เน็ตส่วนมากเด็กมักส่งภาพหรือวีดีโอให้แฟน หรือเพื่อนที่ตนเองไว้ใจ การส่งข้อความหรือสื่อลามกทางอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์เป็นปัญหา เนื่องจากเด็ก ๆ มักไม่เข้าใจถึงผลที่อาจตามมาจากพฤติกรรมเหล่านั้น และไม่ปกปิดข้อมูลที่ระบุตัวตน, เซ็กติ้ง ทำให้เด็กตกอยู่ในภาวะเปราะบาง และเสี่ยงที่จะกลายเป็นผู้เสียหายจากการขู่กรรโชกทางเพศ (sexual extortion) การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (cyber bullying) และบางครั้งภาพของพวกเขาอาจถูกคัดลอก หรือ นำไปใช้ในการสะสมสื่อการละเมิดทางเพศต่อเด็ก/ แสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก

การแบล็คเมล์ทางเพศออนไลน์(Sextortion)

คือกระบวนการที่เด็กถูกบังคับข่มขู่ในโลกออนไลน์ เพื่อให้สนองความต้องการทางเพศ ให้เงินและสิ่งของอื่น หรือให้ผลิตสื่อทางเพศ ส่วนใหญ่มักเกิดจากความไม่เท่าเทียมกันของอำนาจ (ที่รับรู้ได้) ระหว่างผู้กระทำความผิดกับเด็กที่เป็นผู้เสียหาย ทำให้ผู้กระทำความผิด สามารถข่มขู่หรือบังคับให้เด็กตกลงตามข้อเรียกร้อง เช่น ส่งภาพโป๊เปลือยเพิ่มขึ้น ล่วงละเมิดทางเพศหรือด้านการเงิน บางกรณีการทารุณกรรมเลยเถิดจนเกินจะควบคุม จนทำให้ผู้เสียหายพยายามที่จะทำร้ายหรือปลิดชีวิตตนเอง เนื่องจากเป็นทางเดียวที่จะหนีจากวังวนนั้นได้

การถ่ายทอดสดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก(Live Streaming of Child Sexual Abuse)

การถ่ายทอดสดการละเมิดทางเพศต่อเด็ก Live Online Child Sexual Abuse หรือ Live Streaming of Child Sexual Abuse เกิดขึ้นเมื่อเด็กถูกบังคับ หรือล่อลวงให้ร่วมกิจกรรมทางเพศ หรือแสดงท่าทางยั่วยวนทางเพศ และกิจกรรมทางเพศนั้นก็ถูกถ่ายทอดสด หรือ "รับชมสด" ผ่านอินเตอร์เน็ต โดยบุคคลอื่นที่อยู่ห่างไกล ผู้ที่เข้ามาชมและ/หรือขอให้มีการแสดงการล่วงละเมิดทางเพศเด็ก มักเป็นคนสั่งให้ทำทารุณกรรมทางเพศต่อเด็ก คอยบงการว่าจะให้ทำอย่างไร และจ่ายเงินเข้ามาดูการถ่ายทอดสดดังกล่าว

การกลั่นแกล้งรังแกกันบนโลกออนไลน์(Cyber Bullying)

คือ การโพสต์ด่า พูดจาส่อเสียด ให้ร้าย หรือขู่ทำร้าย ผ่านแชทหรือโพสต์หน้าโซเชียลมีเดียของผู้ถูกกระทำ การนำความลับหรือภาพลับของเพื่อนมาเปิดเผยผ่านเครือข่ายสังคมออนไลน์ มีการแชร์ต่อกันไปอย่างกว้างขวาง หรือการใส่ร้ายป้ายสี การคุกคามทางเพศแบบออนไลน์ ซึ่งการกระทำเหล่านี้เป็นการรังแกของเด็กและเยาวชนในยุคไฮเทค เป็นกรณีพิพาทระหว่างเด็กกับเด็กด้วยกัน โดยที่ใช้เครื่องมือสื่อสารอย่างโทรศัพท์มือถือ แท็บเล็ต คอมพิวเตอร์ เชื่อมต่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาร์แกรม แชท หรือเว็บไซต์ต่างๆ ในการรังแกและกลั่นแกล้งกัน โดยสามารถทำได้ 24 ชั่วโมง การกระทำที่เข้าข่าย Cyberbullying จะเกิดจากเจตนาที่มุ่งร้ายให้อับอาย เจ็บใจ และเสียใจ ดังนั้นการกลั่นแกล้งกันบนโลกออนไลน์จึงมักจะเป็นการกระทำซ้ำๆ ไม่ใช่เพียงครั้งเดียวแล้วเลิก

แชร์บทความนี้