ECPAT Foundation Thailand

หลักสูตรการอบรมเพื่อพัฒนามาตรฐานคุ้มครองเด็กภายในองค์กรChild Safe Organisations Training Toolkit

ความเป็นมา

แนวความคิดในการพัฒนานโยบายและแนวทางการคุ้มครองเด็กภายในองค์กร หรือ Child Protection Policy and Procedures (CPP) เป็นเครื่องมือในการบริหารงานขององค์กรที่ปฏิบัติงานด้านเด็กทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศอังกฤษและออสเตรเลีย ได้นำไปพัฒนาให้เป็นกลไกในการกำกับดูแลบริหารงานในหน่วยงานด้านเด็กทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่น ด้วยการกำหนดเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงาน เป็นเงื่อนไขในคุณสมบัติขององค์กรที่จะขอรับการสนับสนุนทุน และเป็นเกณฑ์ในการติดตามตรวจสอบการดำเนินงานของหน่วยงาน มีหลักสูตรในการพัฒนาบุคลากรในองค์กรและกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กในความดูแล ให้ตระหนัก มีความรู้ความเข้าใจต่อสิทธิเด็กและหน้าที่ขององค์กรในการคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิด การแสวงหาประโยชน์ จนองค์กรสามารถกำหนดนโยบายและแนวปฏิบัติในการคุ้มครองเด็กขององค์กร

ในปี 2547 เกิดเหตุการณ์ภัยธรณีพิบัติ (สึนามิ) ในภาคใต้ของประเทศไทย ปรากฏว่าได้มีหน่วยงานด้านเด็กทั้งภาครัฐและเอกชน และองค์กรประชาสังคม มาทำงานช่วยเหลือเด็ก ๆ ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ภัยพิบัติเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่มีลักษณะการทำงานที่ต้องปฏิสัมพันธ์กับเด็กโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นการสงเคราะห์ให้ความช่วยเหลือ การจัดตั้งศูนย์ดูแลเด็ก การจัดการศึกษาทั้งในรูปแบบทางการและไม่เป็นทางการ การจัดกิจกรรมสำหรับเด็กในชุมชนทั้งกีฬา ศิลปวัฒนธรรม ทักษะชีวิต และสังคม แต่กลับปรากฏว่ามีหน่วยงานเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้น ที่มีนโยบายและแนวทางคุ้มครองเด็กในความดูแล จึงเป็นที่มาของการประสานความร่วมมือระหว่างองค์กรช่วยเหลือเด็กแห่งสหราชอาณาจักร องค์การเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล ภายในใต้การสนับสนุนงบประมาณจากยูนิเซฟ ในการจัดทำหลักสูตรการฝึกอบรมเพื่อพัฒนา "มาตรฐานการคุ้มครองเด็กภายในองค์กร" และการฝึกอบรมวิทยากรกระบวนการ เพื่อเสริมสร้างความตระหนักองค์กรพัฒนาเอกชนเรื่องการละเมิดต่อเด็ก และส่งเสริมการพัฒนานโยบายคุ้มครองเด็กแก่องค์กรด้านเด็ก โดยหลักสูตรดังกล่าวได้มีการเผยแพร่ให้แก่องค์กรภาครัฐ เอกชนทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ องค์กรที่ผ่านการฝึกอบรมการเป็นวิทยากร รวมทั้งมูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ได้นำหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวมาเผยแพร่แก่องค์กรเครือข่ายที่ทำงานด้านเด็กในประเทศไทยและต่างประเทศอย่างต่อเนื่อง

ในปี 2553 มูลนิธิฯ ร่วมกับองค์กรเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล และสำนักป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้าหญิงและเด็ก (สปป.) ในการดำเนินโครงการพัฒนาองค์กรที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก (Child Safe Organisation) โดยได้จัดการฝึกอบรมและให้คำแนะนำปรึกษาให้แก่องค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก และการฝึกอบรมสร้างความตระหนักแก่ผู้ปฏิบัติงานในบ้านพักเด็กและครอบครัว

หลักสูตรการฝึกอบรม "การคุ้มครองเด็กภายในองค์กร" เป็นหลักสูตรที่มีความเหมาะสมในการรณรงค์ สร้างความตระหนักเบื้องต้น สำหรับบุคลากรในองค์กรเกี่ยวกับสิทธิเด็ก การคุ้มครองเด็กจากการถูกล่วงละเมิด การวิเคราะห์ถึงความพร้อมขององค์กรในการรับมือ และจัดการกับการล่วงละเมิดที่อาจเกิดขึ้นภายในองค์กร รวมทั้งการให้คำแนะนำเกี่ยวกับแนวทางในการพัฒนานโยบายคุ้มครองเด็ก แต่เนื่องจากหลักสูตรดังกล่าวได้มีการเผยแพร่และใช้ในการฝึกอบรมผ่านมากว่า 7 ปีแล้ว มูลนิธิฯ ได้ปรึกษาหารือกับองค์กรเครือข่ายที่ได้มีการนำหลักสูตรการฝึกอบรมดังกล่าวไปใช้ และเห็นพ้องต้องกันว่าควรมีการปรับปรุง พัฒนาเนื้อหาของหลักสูตร รวมทั้งกรณีศึกษาต่าง ๆ ให้ทันต่อเหตุการณ์และครอบคลุมสถานการณ์การล่วงละเมิดในรูปแบบใหม่ ๆ รวมทั้งให้มีเนื้อหาครอบคลุมไปถึงแนวปฏิบัติที่เหมาะในการทำงานขององค์กร เช่น แนวทางในการถ่ายภาพ หรือการใช้รูปภาพของเด็ก แนวทางการใช้อินเตอร์เน็ต กล้อง หรือโทรศัพท์มือถือ การสร้างวินัยเชิงบวก รวมทั้งแนวทางในการเขียนนโยบายคุ้มครองเด็ก นอกจากนี้ยังควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพของเด็ก และแนวทางในการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเด็กในการคุ้มครองเด็ก เป็นต้น

ดังนั้น มูลนิธิเพื่อยุติการแสวงหาประโยชน์ทางเพศจากเด็ก ในฐานะที่เป็นหนึ่งในองค์กรที่ให้การฝึกอบรมเพื่อพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองเด็ก ร่วมกับองค์กรภาคีได้ทำการปรับปรุงหลักสูตรการฝึกอบรม เรื่อง "การคุ้มครองเด็กภายในองค์กร" โดยการสนับสนุนจาก Kindernorthlife (KNH) และองค์การเอ็คแพท อินเตอร์เนชั่นแนล เพื่อให้เป็นหลักสูตรกลางในการฝึกอบรมเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการกระทำความรุนแรงต่อเด็ก การละเลย หรือการแสวงหาประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้นภายในองค์กรหรือหน่วยงาน การวิเคราะห์ความเสี่ยงด้านการคุ้มครองเด็กที่อาจเกิดขึ้นจากการทำกิจกรรม หรือโครงการ และแนวทางในการลดความเสี่ยง รวมทั้งเสริมสร้างความตระหนักถึงบทบาทหน้าที่ขององค์กรและเจ้าหน้าที่ในการปกป้องคุ้มครองเด็ก รวมทั้งให้ข้อมูลแนวทางในการพัฒนาหรือปรับปรุงนโยบายคุ้มครองเด็กขององค์กร โดยคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็กเป็นหลัก ไม่มีการเลือกปฏิบัติ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเจ้าหน้าที่ในทุกระดับ รวมทั้งเด็ก ๆ ทุกคน

"คู่มือเล่มนี้ช่วยกำหนดกรอบการทำงานในการพัฒนาและการนำนโยบายคุ้มครองเด็กมาปฏิบัติจริงภายในองค์กร"

"กลไกเพื่อคุ้มครองเด็กภายในองค์กร ประกอบด้วย นโยบายและขั้นตอนในการปฏิบัติ"

  • นโยบาย คือ คำกล่าวที่แสดงให้เห็นถึงความยึดมั่นขององค์กรในการคุ้มครองเด็กจากการถูกกระทำรุนแรงต่าง ๆ และยังแสดงให้เห็นว่าทางองค์กรมีมาตรฐานในการคุ้มครองเด็ก รวมถึงตัวเจ้าหน้าที่ภายในองค์กรเอง นโยบายการคุ้มครองเด็กช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรและปลอดภัยทั้งต่อตัวเด็กและเจ้าหน้าที่ รวมทั้งแสดงให้เห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญอย่างยิ่งกับหน้าที่ในการดูแลของตน
  • ขั้นตอนปฏิบัติ คือ การนำนโยบายไปปฏิบัติจริง! ขั้นตอนปฏิบัติ คือ แนวทางที่ระบุไว้ชัดเจน ว่าเจ้าหน้าที่ควรปฏิบัติตนอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการคุ้มครองเด็ก

นโยบายคุ้มครองเด็ก?

เพราะว่าเด็กทุกคนที่เกิดมา ต้องการความรักและความเอาใจใส่เลี้ยงดูจากพ่อแม่และผู้ใหญ่ในสังคม ได้รับการปฏิบัติในฐานะที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง ต้องไม่มีการดูถูกเหยียดหยามและเลือกปฏิบัติต่อเด็ก ได้รับการปกป้องคุ้มครองจากการใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด ๆ เพื่อให้เด็กอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและเติบโตเป็นคนดีของสังคม

เพราะว่าผู้ใหญ่ทุกคนในสังคม รวมทั้งพ่อแม่ ผู้ปกครอง ผู้ดูแลเด็ก นั้นมีหน้าที่ตามกฎหมายและบทบาท ทางสังคม ที่จะต้องให้การอุปการะเลี้ยงดู อบรมสั่งสอน พัฒนาเด็ก และจะต้องคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่อยู่ในความปกครองไม่ให้ตกอยู่ในภาวะอันตรายทั้งร่างกายและจิตใจ

เพราะว่ารัฐบาลไทย ให้คำมั่นสัญญากับนานาประเทศว่า จะกระทำทุกวิถีทาง ในการป้องกันและคุ้มครองเด็ก ๆ จากการใช้ความรุนแรงในทุกรูปแบบ สร้างหลักประกันด้วยการกำหนดให้มีกลไกค้นหารายงานการละเมิดและให้ความคุ้มครอง เยียวยาเด็กจากการถูกละเมิดสิทธิ


กิจกรรมที่ผ่านมา

  • วันที่ 17-19 มีนาคม 2558 ณ โรงแรม ไอบิส กรุงเทพ ริเวอร์ไซด์

    ผู้เข้าร่วมฯ จำนวน 28 คน เป็นเจ้าหน้าที่จากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็ก และต่างก็เป็นสมาชิกเครือข่ายสิทธิเด็กประเทศไทย (CRC Coalition Thailand)
  • วันที่ 8-11 กันยายน 2558 ณ โรงแรมวังคำ อ.เมือง จ.เชียงราย

    เป็นการอบรมเชิงปฏิบัติการ สร้างวิทยากร (Training for the trainer) เรื่อง นโยบายและมาตรฐานการคุ้มครองเด็กภายในองค์กร (Child Safe Organization) โดยเน้นให้ผู้เข้าร่วมการอบรมได้ฝึกปฏิบัติตามหลักสูตรอบรมเพื่อพัฒนามาตรฐานการคุ้มครองเด็กภายในองค์กร กลุ่มเป้าหมายในการอบรม ได้แก่ ผู้ทำหน้าที่ฝึกอบรม หรือเจ้าหน้าที่รับผิดชอบงานด้านการคุ้มครองเด็กที่มีความรู้พื้นฐานด้านสิทธิเด็ก สิทธิมนุษยชน และเรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กสามารถนำความรู้ที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปถ่ายทอด หรือเผยแพร่ต่อได้ กลุ่มเป้าหมาย จากองค์กรพัฒนาเอกชนด้านเด็กและองค์กรภาครัฐ ในจังหวัดเชียงราย พะเยา เชียงใหม่ และกำแพงเพชร รวม 30 คน
  • วันที่ 7-8 กรกฎาคม 2559 ณ โรงแรมเชียงรายแกรนด์รูม อ.เมือง จ.เชียงราย

    กลุ่มเป้าหมายในการอบรม ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากสถานสงเคราะห์เด็กภาคเอกชนในจังหวัดเชียงราย และพะเยา จำนวน 26 คน
  • วันที่ 24-25 พฤศจิกายน 2559 ณ โรงแรมฮอลิเดย์ การ์เดน อ.เมือง จ.เชียงใหม่

    กลุ่มเป้าหมายในการอบรม ได้แก่ เจ้าหน้าที่จากสถานสงเคราะห์เด็กภาคเอกชนในจังหวัดเชียงใหม่ จำนวน 46 คน
แชร์หน้านี้